วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เบี้ยหวัด



เบี้ยหวัด
(ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด พ.ศ.๒๔๙๕)



เบี้ยหวัด หมายถึง เงินตอบแทนความชอบที่รับราชการมาจ่ายให้ทหารชายเท่านั้น ซึ่งได้แก่ นายทหารชั้นสัญญาบัตร และนายทหารชั้นประทวน ที่ออกจากราชการเป็นทหารกองหนุน โดยจ่ายเป็นรายเดือนตั้งแต่ออกจากราชการจนถึงก่อนวันย้ายประเภทหรือวันปลดเป็นกองหนุนชั้นที่ ๒
ทหารกองเกิน หมายความว่า ผู้ซึ่งมีอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีบริบูรณ์และยังไม่ถึง ๓๐ ปีบริบูรณ์ ได้ลงบัญชีทหารกองเกินแล้ว
ทหารกองประจำการ หมายความว่า ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนกองประจำการ และได้เข้ารับราชการในกองประจำการจนกว่าจะได้ปลด
ทหารกองหนุนประเภทที่ ๑ หมายความว่า ทหารที่ปลดจากกองประจำการ โดยรับราชการในกองประจำการจนครบกำหนดหรือทหารกองเกินซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหาร และได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นกองหนุน
ทหารกองหนุนประเภทที่ ๒ หมายความว่า ทหารที่ปลดจากกองเกิน
พ้นราชการทหารประเภทที่ ๑ หมายความว่า ทหารซึ่งถูกปลดโดยที่ได้รับราชการในชั้นต่าง ๆ จนครบกำหนด หรือโดยที่พิการทุพพลภาพหรือมีโรคซึ่งไม่สามารถจะรับราชการทหารได้
พ้นราชการทหารประเภทที่ ๒ หมายความว่า ทหารกองหนุนประเภทที่ ๒ ที่มีอายุ ๔๖ ปีบริบูรณ์แล้ว หรือทหารกองเกิน หรือทหารกองหนุนประเภทที่ ๒ ซึ่งพิการทุพพลภาพ หรือมีโรคอันไม่สามารถจะรับราชการทหารได้
ทหารประจำการ หมายความว่า ทหารซึ่งรับราชการตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดซึ่งไม่ใช่ทหารกองประจำการ
นายทหารประจำการ คือ นายทหารสัญญาบัตรซึ่งมีตำแหน่งราชการประจำในกระทรวงกลาโหม
นายทหารกองหนุน คือ นายทหารซึ่งไม่มีตำแหน่งราชการประจำในกระทรวงกลาโหม และกระทรวงกลาโหมสั่งให้เป็นนายทหารประเภทนี้ ซึ่งแบ่งเป็น
- นายทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด
- นายทหารกองหนุนไม่มีเบี้ยหวัด

หลักเกณฑ์ทหารที่มีสิทธิได้รับเบี้ยหวัด มีดังนี้
๑. นายทหารสัญญาบัตร ที่จะมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัด ต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้
๑.๑ มีเวลาราชการไม่น้อยกว่า ๑ ปี หรือ นายทหารสัญญาบัตรนอกประจำการ ที่ไม่ได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ กลับเข้ารับราชการใหม่เป็นเวลา ไม่น้อยกว่า ๑ ปี
๑.๒ เมื่อออกจากราชการต้องมีชั้นยศและอายุไม่เกิน ดังนี้
ร้อยตรี ถึง ร้อยเอก อายุไม่เกิน ๔๕ ปี
พันตรี ถึง พันโท อายุไม่เกิน ๕๐ ปี
พันเอกขึ้นไป อายุไม่เกิน ๕๕ ปี
๒. นายทหารประทวน และพลทหารประจำการ (พลอาสาสมัคร) ที่จะมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัด มีหลักเกณฑ์ดังนี้
๒.๑ ต้องเป็นทหารประจำการต่อจากกองประจำการไม่น้อยกว่า ๑ ปี
๒.๒ เมื่อออกจากราชการยังไม่พ้นกองหนุนชั้นที่ ๒
- กองประจำการ ๒ ปี
- กองหนุนชั้นที่ ๑ ๗ ปี (รับราชการต่อไม่น้อยกว่า ๑ ปีบริบูรณ์)
- กองหนุนชั้นที่ ๒ ๑๐ ปี (ลาออกยังไม่เกินกองหนุนชั้นที่ ๒)
- กองหนุนชั้นที่ ๓ ๖ ปี
พ้นราชการทหาร
๒.๓ นายทหารชั้นประทวนที่แต่งตั้งยศจากข้าราชการกลาโหมพลเรือน แยกเป็น ๒ กรณี
มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
- กรณี ขึ้นทะเบียนกองประจำการ หรือวันร้องขอเข้ากองประจำการ เมื่อ อายุไม่เกิน ๒๑ ปีบริบูรณ์(ให้นับถึง ๓๑ ธันวาคม ของปี พ.ศ.ที่มีอายุ ๒๑ ปี) เมื่อออกจาก ราชการจะมีสิทธิรับเบี้ยหวัดต้องมีหลักเกณฑ์ตามข้อ ๒.๑ และ ๒.๒ ดังกล่าวข้างต้น
- กรณีขึ้นทะเบียนกองประจำการ หรือวันร้องขอเข้ากองประจำการ เมื่ออายุเกิน ๒๑ ปีบริบูรณ์(ให้นับถึง ๓๑ ธันวาคม ของปี พ.ศ.ที่มีอายุ ๒๑ ปี) เมื่อออกจากราชการจะมีสิทธิรับเบี้ยหวัด ต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้ ให้ใช้ ๓๙ + พ.ศ.เกิดแล้วดู วัน เดือน ปี ที่ลาออกจากราชการ
ถ้ายังไม่เกินต้นเดือนของเดือนที่ขึ้นทะเบียน หรือวันร้องขอเข้ากองประจำการ จะมีสิทธิได้รับ เบี้ยหวัด (คำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ ๑๓๙๙๕/๙๘ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๙๘ เรื่องข้าราชการกลาโหมพลเรือนที่ได้รับการแต่งตั้งยศเป็นนายทหารประทวนประจำการแล้วออกจากราชการ)

เกณฑ์คำนวณเบี้ยหวัด
ให้นับเวลาราชการปกติรวมกับเวลาราชการทวีคูณ(ถ้ามี)
ได้เวลาราชการเท่าไรแล้ว ตกเกณฑ์ไหน ก็จะได้เกณฑ์คำนวณเบี้ยหวัด ดังนี้
๑. มีเวลาราชการไม่ถึง ๑๕ ปี ได้ ๑๕/๕๐ ของเงินเดือน
๒. มีเวลาราชการ ๑๕ ปี แต่ไม่ถึง ๒๕ ปี ได้ ๒๕/๕๐ ของเงินเดือน
๓. “ ๒๕ ปี “ ๓๐ ปี ได้ ๓๐/๕๐ “
๔. “ ๓๐ ปี “ ๓๕ ปี ได้ ๓๕/๕๐ “
๕. “ ๓๕ ปี ถึง ๔๐ ปี ได้ ๔๐/๕๐ “
๖. มีเวลาราชการเกินกว่า ๔๐ ปีขึ้นไป จะได้รับเบี้ยหวัด
=( เงินเดือนเดือนสุดท้าย X จำนวนปีเวลาราชการ)/๕๐
เบี้ยหวัดให้จำกัดจำนวนอย่างสูงไม่เกินเงินเดือนเดือนสุดท้าย

วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2551

บำเหน็จบำนาญ






บำเหน็จบำนาญ
พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.๒๔๙๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ข้าราชการ หมายถึง ทหารและข้าราชการพลเรือน
ทหาร หมายถึง นายทหารสัญญาบัตร นายทหารประทวน ตลอดจนว่าที่ยศนั้นๆ
และพลทหารประจำการ
ข้าราชการพลเรือน หมายถึง
- ข้าราชการพลเรือน - ข้าราชการฝ่ายตุลาการ
- ข้าราชการฝ่ายอัยการ - ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย
- ข้าราชการการเมือง - ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา
- ข้าราชการตำรวจ - ข้าราชการครู
- ข้าราชการกลาโหมพลเรือน

บำเหน็จบำนาญปกติ มี ๔ เหตุ
๑. เหตุทดแทน ให้แก่ข้าราชการซึ่งออกจากประจำการเพราะเลิก หรือยุบตำแหน่ง หรือซึ่งมีคำสั่งให้ออกโดยไม่มีความผิด หรือซึ่งออกตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือ ทหารซึ่งออกจากกองหนุนเบี้ยหวัด
๒. เหตุทุพพลภาพ ให้แก่ข้าราชการผู้ป่วยเจ็บทุพพลภาพซึ่งแพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าไม่สามารถที่จะรับราชการในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งปฏิบัติอยู่นั้นต่อไป
๓. เหตุสูงอายุ ให้แก่ข้าราชการผู้มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้ว หรือผู้ที่มีอายุครบห้าสิบปี บริบูรณ์แล้ว ประสงค์จะลาออกจากราชการ
๔. เหตุรับราชการนาน ให้แก่ข้าราชการซึ่งมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบสามสิบปีบริบูรณ์ หรือผู้ที่มีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบยี่สิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว ประสงค์จะลาออกจากราชการ

บำเหน็จ หมายถึง เงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการ จ่ายให้เป็นเงินก้อนครั้งเดียว มีหลักเกณฑ์ดังนี้
๑. สิทธิที่จะได้รับบำเหน็จ
๑.๑ มีเวลาราชการไม่ถึง ๑๐ ปีบริบูรณ์
- ทางราชการให้ออกด้วยเหตุทดแทน
- ออกจากราชการเพราะเหตุทุพพลภาพ
- ทางราชการให้ออกเพราะครบเกษียณอายุ
- ลาออกเมื่ออายุครบ ๕๐ ปีบริบูรณ์แล้ว
๑.๒ ลาออกโดยมีเวลาราชการครบ ๑๐ ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง ๒๕ ปีบริบูรณ์
๑.๓ มีสิทธิได้รับบำนาญ แต่ขอรับบำเหน็จแทนบำนาญ
๒. เกณฑ์คำนวณบำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณจำนวนปีเวลาราชการ

บำนาญปกติ หมายถึง เงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการ จ่ายให้เป็นรายเดือนจนกว่าจะถึงแก่กรรม หรือหมดสิทธิ มีหลักเกณฑ์ดังนี้
๑. สิทธิที่จะได้รับบำนาญ
๑.๑ ต้องมีเวลาราชการตั้งแต่ ๑๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
- ทางราชการให้ออกโดยไม่มีความผิด
- ทางราชการให้ออกเพราะครบเกษียณอายุ
- ทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดครบกำหนดย้ายประเภท
- ออกจากราชการเพราะเหตุทุพพลภาพ
- ทางราชการให้ออกเมื่อมีเวลาราชการครบ ๓๐ ปีบริบูรณ์แล้ว
- ลาออกจากราชการเมื่ออายุครบ ๕๐ ปีบริบูรณ์แล้ว
- ทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดครบกำหนดย้ายประเภท
- ออกจากราชการเพราะเหตุทุพพลภาพ
- ทางราชการให้ออกเมื่อมีเวลาราชการครบ ๓๐ ปีบริบูรณ์แล้ว
- ลาออกจากราชการเมื่ออายุครบ ๕๐ ปีบริบูรณ์แล้ว
- ลาออกจากราชการเมื่อมีเวลาราชการครบ ๒๕ ปีบริบูรณ์แล้ว
เกณฑ์คำนวณบำนาญ = (เงินเดือนเดือนสุดท้าย X จำนวนปีเวลาราชการ)/ ๕๐
บำนาญปกติให้จำกัดจำนวนอย่างสูงไม่เกินเงินเดือนเดือนสุดท้าย

บำนาญพิเศษ หมายถึง เงินที่จ่ายให้แก่ข้าราชการ พลทหารกองประจำการ หรือ
บุคคลที่ทำหน้าที่ทหารตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ซึ่งได้รับอันตรายจนพิการหรือป่วยเจ็บถึงทุพพลภาพจนไม่สามารถรับราชการต่อไปได้ หรือจ่ายให้แก่ทายาทของบุคคลดังกล่าว กรณีถึงแก่ความตายเพราะเหตุปฏิบัติราชการในหน้าที่ จ่ายให้เป็นรายเดือน มีหลักเกณฑ์ดังนี้

๑. บำนาญพิเศษแบ่งออกได้เป็น ๒ กรณี คือ
- กรณีทุพพลภาพ เพราะเหตุปฏิบัติราชการในหน้าที่ ผู้ที่ทุพพลภาพเป็นผู้ได้รับบำนาญพิเศษ
- กรณีถึงแก่ความตาย เพราะเหตุปฏิบัติราชการในหน้าที่ ทายาทได้รับบำนาญพิเศษ
๒ การคำนวณบำนาญพิเศษ
๒.๑ เงินเดือนเดือนสุดท้าย หมายถึงเงินเดือนที่ได้ปูนบำเหน็จพิเศษแล้ว
๒.๒ กรณีทุพพลภาพ (ได้รับทั้งบำนาญปกติและบำนาญพิเศษ)
- ยามปกติ ได้รับบำนาญพิเศษอัตราตั้งแต่ห้าจนถึงยี่สิบในห้าสิบส่วนของเงินเดือน เดือนสุดท้าย
- ผู้ที่ทำหน้าที่ไปราชการหรือปฏิบัติราชการโดยอากาศยานในอากาศ ทำการ
โดดร่ม ดำน้ำ กวาดทุ่นระเบิด ขุด ทำลาย ทำ ประกอบวัตถุระเบิด หรือมีหน้าที่เกี่ยวกับไอพิษได้รับบำนาญพิเศษเป็นจำนวนกึ่งเงินเดือนเดือนสุดท้าย
- ผู้ที่ทำหน้าที่ในระหว่างเวลาที่มีการรบ การสงคราม หรือการปราบปรามการจลาจลได้รับบำนาญพิเศษอัตราตั้งแต่สามสิบจนถึงสามสิบห้าในห้าสิบส่วนของเงินเดือนเดือนสุดท้าย
๒.๓ กรณีถึงแก่ความตาย
- ยามปกติ ทายาทได้รับบำนาญพิเศษเป็นจำนวนกึ่งเงินเดือนเดือนสุดท้ายของผู้ตาย
- ผู้มีหน้าที่ต้องไปราชการหรือปฏิบัติราชการโดยอากาศยานในอากาศ ทำการโดดร่ม ดำน้ำ กวาดทุ่นระเบิด ขุด ทำลาย ทำ ประกอบวัตถุระเบิด มีหน้าที่เกี่ยวกับไอพิษ การรบ การสงคราม ปราบปรามการจลาจล ทายาทได้รับบำนาญพิเศษ เป็นจำนวนสี่สิบในห้าสิบส่วนของเงินเดือน เดือนสุดท้าย ของผู้ตาย

ทายาทผู้มีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษ
๑. บิดา มารดา หรือคนใดคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ ได้รับ ๑ ส่วน
๒. คู่สมรส ได้รับ ๑ ส่วน
๓. บุตร ๑ ถึง ๒ คนได้รับ ๒ ส่วน บุตร ๓ คนขึ้นไป ได้รับ ๓ ส่วน
๔. ถ้าไม่มีทายาทในข้อใด หรือทายาทนั้นได้ตายไปก่อนแล้ว ให้แบ่งบำนาญพิเศษระหว่างทายาทที่มี
๕. ถ้าไม่มีทายาทตาม ข้อ ๑ ถึง ข้อ ๓ ก็ให้จ่ายแก่ผู้อยู่ในความอุปการะของผู้ตาย หรือผู้อุปการะผู้ตายแล้วแต่กรณี

เงื่อนไขที่จะได้รับบำนาญพิเศษ
๑. บิดา มารดา ให้ได้รับจนตลอดชีวิต
๒. คู่สมรส ได้รับจนตลอดชีวิต เว้นแต่จดทะเบียนสมรสใหม่
๓. บุตร ได้รับจนอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ แต่ถ้ากำลังศึกษาอยู่ในชั้นเตรียมอุดมศึกษา
ชั้นอุดมศึกษาหรือชั้นการศึกษาที่เทียบเท่าก็ให้ได้รับจนสำเร็จการศึกษา แต่อายุต้องไม่เกิน ๒๕ ปี
๔. ผู้อุปการะ หรือผู้อยู่ในความอุปการะได้รับ ๑๐ ปี ถ้าอายุไม่ถึง ๒๐ ปี ให้อนุโลมรับอย่าง
บุตรผู้มีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษเป็นผู้พิการถึงทุพพลภาพอยู่ก่อนแล้ว หรือในระหว่างที่มีสิทธิได้รับ
บำนาญพิเศษให้ผู้นั้นได้รับบำนาญพิเศษตลอดเวลาที่ทุพพลภาพอยู่

บำเหน็จดำรงชีพ หมายถึง เงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับบำนาญเพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพจ่ายให้ครั้งเดียว โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ มีหลักเกณฑ์ดังนี้
๑. จ่ายให้ผู้รับบำนาญปกติหรือผู้รับบำนาญพิเศษเพราะทุพพลภาพ โดยยื่นขอพร้อมกับการขอรับบำนาญ
๒. จ่ายให้ผู้ได้รับบำนาญปกติและบำนาญพิเศษเพราะทุพพลภาพรวมบำนาญเข้าด้วยกันเพื่อคำนวณบำเหน็จดำรงชีพ
๓. จ่ายไม่เกิน ๑๕ เท่าของเงินบำนาญ ไม่รวมเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (และต้องไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด)
กรณี ผู้รับบำนาญอยู่แล้วยังไม่ได้ยื่นขอรับบำเหน็จดำรงชีพ ให้ยื่นขอต่อหน่วยเบิกจ่ายที่ตนเองรับบำนาญอยู่
บำเหน็จตกทอด หมายถึง เงินที่จ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ทายาทของข้าราชการ หรือทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด หรือผู้รับบำนาญถึงแก่ความตาย จ่ายให้เป็นเงินก้อนครั้งเดียว แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
๑. ข้าราชการ หรือผู้รับเบี้ยหวัดถึงแก่ความตาย ถ้าความตายนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของตนเอง ทายาทจะได้รับบำเหน็จตกทอด = เงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณจำนวนปีเวลาราชการ
๒. ผู้รับบำนาญปกติ หรือบำนาญพิเศษเหตุทุพพลภาพถึงแก่ความตาย ทายาทจะได้รับบำเหน็จตกทอด
- เป็นเงิน ๓๐ เท่า ของบำนาญ ไม่รวมเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ
- กรณีรับบำเหน็จดำรงชีพไปแล้ว ทายาทจะได้รับบำเหน็จตกทอดหักด้วยบำเหน็จดำรงชีพ
๓. บำเหน็จตกทอดรายใดคำนวณได้ ไม่ถึง ๓,๐๐๐ บาท ก็ให้จ่ายเป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท

ทายาทผู้มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอด
๑. บุตร ๑ ถึง ๒ คน ให้ได้รับ ๒ ส่วน ๓ คนขึ้นไป ได้รับ ๓ ส่วน
๒. คู่สมรส ได้รับ ๑ ส่วน
๓. บิดา มารดา หรือคนใดคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ ได้รับ ๑ ส่วน
๔. ถ้าไม่มีทายาทในข้อใด หรือทายาทนั้นได้ตายไปก่อนแล้ว ให้จ่ายแก่บุคคล
ซึ่งผู้ตายแสดงเจตนา ระบุไว้ต่อส่วนราชการต้นสังกัดถ้าไม่มีทายาท และผู้ตายไม่ได้แสดงเจตนาระบุไว้ ให้สิทธิในบำเหน็จตกทอดนั้น เป็นอันยุติ

บำเหน็จบำนาญ
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.๒๕๓๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม


ข้าราชการ หมายถึง
- ข้าราชการพลเรือน - ข้าราชการฝ่ายตุลาการ
- ข้าราชการฝ่ายอัยการ - ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย
- ข้าราชการครู - ข้าราชการรัฐสภาสามัญ
- ข้าราชการตำรวจ - ข้าราชการทหาร
- ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ - ข้าราชการตุลาการศาลปกครอง
- ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
- ข้าราชการสำนักงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

สมาชิกและการเข้าเป็นสมาชิก
๑. เข้ารับราชการหรือโอนมาเป็นข้าราชการตั้งแต่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๐ ต้องเป็นสมาชิก
๒. ข้าราชการซึ่งรับราชการอยู่ก่อน ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๐ จะสมัครเป็นสมาชิกหรือไม่ก็ได้
๓. ข้าราชการซึ่งออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงานตามพระราชกฤษฎีกาฯ และกลับ
เข้ารับราชการก่อน ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๐ จะสมัครเป็นสมาชิกหรือไม่ก็ได้

สิทธิประโยชน์
๑. สมาชิกจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน ๓% ของเงินเดือน รัฐจะจ่ายสมทบอีก ๓%
๒. รัฐจ่ายเงินประเดิมให้ ๒%
๓. รัฐจ่ายเงินชดเชยให้ ๒%
๔. สมาชิกจะได้ดอกผลจากกองทุน
๕. สมาชิกมีสิทธิกู้เงินจากกองทุนได้ไม่เกินจำนวนเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทน
หมายเหตุ - เงินเดือนไม่รวมถึงเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนค่าวิชา เงินเพิ่มพิเศษรายเดือนสำหรับนักโดดร่มประจำกอง เงินเพิ่มพิเศษรายเดือนสำหรับนักบินประจำกอง
- เงินประเดิมจ่ายให้ตั้งแต่วันเข้ารับราชการจนถึงวันสมัครเข้าเป็นสมาชิก
- เงินชดเชย จ่ายให้ตั้งแต่วันเป็นสมาชิกจนถึงวันออกจากราชการ

บำเหน็จ จ่ายให้เป็นเงินก้อนครั้งเดียว
๑. สิทธิที่จะได้รับบำเหน็จ
๑.๑ มีเวลาราชการตั้งแต่ ๑ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ไม่ถึง ๑๐ ปีบริบูรณ์
- ออกจากราชการเพราะเหตุทุพพลภาพ
- ออกจากราชการเพราะเลิกหรือยุบตำแหน่ง
- ออกจากราชการโดยไม่มีความผิด
- ทหารซึ่งออกจากกองหนุนมีเบี้ยหวัด
- ออกจากราชการ เมื่อมีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์
- ลาออกจากราชการ เมื่อมีอายุครบ ๕๐ ปีบริบูรณ์
๑.๒ ออกโดยมีเวลาราชการครบ ๑๐ ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง ๒๕ ปีบริบูรณ์
๑.๓ มีสิทธิรับบำนาญ แต่ขอรับบำเหน็จแทนบำนาญ
๒. เกณฑ์คำนวณบำเหน็จ = อัตราเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาราชการ

บำนาญ จ่ายให้เป็นรายเดือน
๑. สิทธิที่จะได้รับบำนาญ
๑.๑ มีเวลาราชการตั้งแต่ ๑๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
- ออกจากราชการเพราะเหตุทุพพลภาพ
- ออกจากราชการเพราะเลิกหรือยุบตำแหน่ง
- ออกจากราชการโดยไม่มีความผิด
- ทหารซึ่งออกจากกองหนุนมีเบี้ยหวัด
- ออกจากราชการเมื่อมีอายุครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์
- ลาออกจากราชการเมื่อมีอายุครบ ๕๐ ปีบริบูรณ์
๑.๒ ออกจากราชการโดยมีเวลาราชการตั้งแต่ ๒๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
๑.๓ ผู้ที่เข้ารับราชการ หรือผู้ที่โอนมาเป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัตินี้ ตั้งแต่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๐ มีสิทธิได้รับบำนาญ เงินชดเชย และดอกผลของเงินดังกล่าว เว้นแต่จะเลือกรับบำเหน็จ
๑.๔ ผู้ที่เข้ารับราชการก่อน หรือผู้ซึ่งออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงานตาม
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการไปทำการ และกลับเข้ารับ
ราชการก่อน ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๐ ที่เป็นสมาชิก มีสิทธิได้รับบำนาญ เงินประเดิม เงินชดเชย และดอกผลของเงินดังกล่าว เว้นแต่จะเลือกรับบำเหน็จ
๒. เกณฑ์คำนวณบำนาญ = (อัตราเงินเดือนเฉลี่ย ๖๐ เดือนสุดท้าย X เวลาราชการ)/๕๐
(แต่ต้องไม่เกิน ๗๐% ของเงินเดือนเฉลี่ย ๖๐ เดือนสุดท้าย)

การจ่ายเงิน
๑. บำเหน็จ บำนาญ บำเหน็จดำรงชีพ บำเหน็จตกทอด จ่ายจากเงินงบประมาณ
๒. เงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ ตอบแทนจ่ายจากกองทุน
๓. ผู้รับบำเหน็จ จะไม่ได้รับเงินประเดิม และเงินชดเชย
บำเหน็จดำรงชีพ ช่วยเหลือการดำรงชีพผู้รับบำนาญจ่ายให้ครั้งเดียว โดยไม่นำมารวมคำนวณภาษีเงินได้ มีหลักเกณฑ์การจ่าย ดังนี้
๑. ผู้รับบำนาญ
๒. ผู้รับบำนาญเป็นผู้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพ ให้นำบำนาญกับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพรวมเป็นบำนาญรายเดือนคำนวณบำเหน็จดำรงชีพ
๓. บำเหน็จดำรงชีพจ่าย ไม่เกิน ๑๕ เท่าของเงินบำนาญไม่รวมเงินช่วยค่าครองชีพ
ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ(และต้องไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด)
๔. รับบำเหน็จดำรงชีพไปแล้ว กลับเข้ารับราชการใหม่ ออกจากราชการเลือก
รับบำนาญ ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จดำรงชีพอีก
๕. รับบำเหน็จดำรงชีพไปแล้ว กลับเข้ารับราชการใหม่ มีสิทธินับเวลาราชการต่อเนื่อง เมื่อออกจากราชการตอนหลังเลือกรับบำเหน็จ ให้หักบำเหน็จดำรงชีพออกจากบำเหน็จที่ได้รับ

บำเหน็จตกทอด (จ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียว)
๑. สมาชิกถึงแก่กรรม ทายาทจะได้รับบำเหน็จตกทอด = เงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณ เวลาราชการ
๒. ผู้รับบำนาญถึงแก่กรรม ทายาทจะได้รับบำเหน็จตกทอด
- เป็นเงิน ๓๐ เท่าของบำนาญ ไม่รวมเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ
- กรณีรับบำเหน็จดำรงชีพไปแล้ว ทายาทจะได้รับบำเหน็จตกทอดหักด้วยบำเหน็จดำรงชีพ

ทายาทผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด
๑. บุตร ๑ ถึง ๒ คน ให้ได้รับ ๒ ส่วน ๓ คนขึ้นไป ได้รับ ๓ ส่วน
๒. คู่สมรส ได้รับ ๑ ส่วน
๓. บิดา มารดา หรือคนใดคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ ได้รับ ๑ ส่วน
๔. ถ้าไม่มีทายาทในข้อใด หรือทายาทนั้นได้ตายไปก่อนแล้ว ให้จ่ายแก่บุคคล
ซึ่งผู้ตายแสดงเจตนาระบุไว้ต่อส่วนราชการต้นสังกัดถ้าไม่มีทายาท และผู้ตายไม่ได้แสดงเจตนาระบุไว้ให้สิทธิในบำเหน็จตกทอดนั้นเป็นอันยุติ

สิทธิของผู้รับเบี้ยหวัดที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
ตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค ๐๕๒๖.๒/ว. ๑๒ ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ เรื่อง สิทธิของข้าราชการทหารที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กรณีออก รับเบี้ยหวัดกำหนด ดังนี้
ทหารที่ออกจากประจำการเป็นทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด ถือว่าพ้นจากราชการแล้วย่อมพ้นจากสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ให้มีสิทธิได้รับเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าวทันที สำหรับเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนให้มีสิทธิรับเมื่อย้ายประเภท และเลือกรับบำนาญ

การเสียสิทธิรับบำนาญ
ผู้รับบำนาญปกติจะเสียสิทธิในการรับบำนาญ กรณีดังต่อไปนี้
๑. ผู้รับบำนาญกระทำความผิดถึงต้องโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดในลักษณะฐานลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
๒. ผู้รับบำนาญถูกฟ้องคดีเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ผู้รับบำนาญหมดสิทธิตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด
สำหรับผู้ที่รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพนั้น ถึงแม้ว่าจะได้กระทำความผิดถึงต้องโทษจำคุก โดยคำพิพากษาโทษจำคุกก็ไม่เสียสิทธิในการรับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพ

ทายาทไม่มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอด
ทายาทไม่มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอด เกิดจากการกระทำของข้าราชการทหาร หรือผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญหรือเกิดจากการกระทำของทายาทเอง ดังนี้
๑. ข้าราชการทหารตายระหว่างรับราชการ หรือผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญตาย ถ้าความตายนั้นเกิดขึ้นจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของตนเอง ทายาทไม่มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอด
๒. ข้าราชการทหารต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ถึงแก่ความตายก่อนได้รับการวินิจฉัยเรื่องที่กระทำผิดนั้น ให้กระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาวินิจฉัยว่า ถ้าผู้นั้นไม่ถึงแก่ความตายเสียก่อนจะต้องได้รับโทษถึงไล่ออกหรือไม่ ถ้าเห็นว่าผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษถึงไล่ออก ทายาทไม่มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอด
๓. ผู้รับบำนาญปกติ บำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพ หรือทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งไม่ใช่ความผิดในลักษณะฐานลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือถูกฟ้องว่าเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต ถ้าถึงแก่ความตายก่อนมีคดีหรือก่อนคดี ถึงที่สุด ให้กระทรวงเจ้าสังกัดที่ผู้นั้นเคยสังกัดอยู่พิจารณาวินิจฉัยว่า ผู้นั้นได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ถ้าเห็นว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงไว้เกินกว่าหนึ่งปีแล้ว ทายาทไม่มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอด
๔. ทายาทหรือบุคคลซึ่งผู้รับบำนาญแสดงเจตนาไว้ เสียสิทธิรับบำเหน็จตกทอด กรณีดังต่อไปนี้
๔.๑ เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้าบำนาญถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
๔.๒ เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ได้เจตนากระทำหรือพยายามกระทำให้ทายาทด้วยกันถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
๔.๓ เป็นผู้ที่ได้ฟ้องเจ้าบำนาญหาว่ากระทำความผิดโดยมีระวางโทษถึงประหารชีวิต และตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีความผิดฐานฟ้องเท็จ หรือทำพยานเท็จ